ขนมน้ำดอกไม้ หรือ ขนมชักหน้า เป็นขนมไทยโบราณที่คนในวังทำง่ายๆเพราะเครื่องปรุงเป็นตัวขนมมีไม่มาก เป็นขนมที่เจ้านายโปรดกันมากเพราะมีสีสันหลายสี จะใช้ทำถวายพระในงานบุญก็ดีอีกชนิดหนึ่ง เพราะมีสีตัดกันหลายสีเมื่อจัดลงจานถวายพระจะมีสีสันสวนงาม อีกทั้งมีกลิ่นหอมละมุนชื่นใจ น่ารับประทานขนมน้ำดอกไม้นี้ปัจจุบันหารับประทานได้ยากขึ้นทุกที และที่มีขายอยู่ในท้องตลาดนั้นก็มักจะไม่ได้ใช้ “น้ำดอกไม้สด” ทำจริงๆเหมือนในสมัยก่อนแล้ว กลายเป็นใช้กลิ่นอาหารสังเคราะห์กลิ่นมะลิแทนน้ำดอกไม้สด ทำให้ขนมไม่หอมชื่นใจน่ารับประทานเหมือนอย่างในสมัยก่อน
ชื่อขนมน้ำดอกไม้ นี่ก็ตรงไปตรงมาว่าส่วนประกอบสำคัญของขนมชนิดนี้ก็คือ “น้ำดอกไม้สด” นั้นเอง ที่มีตัวน้ำดอกไม้สดแทรกอยู่ในในเนื้อขนมจนหอมกรุ่นจรุงจิตจรุงใจ ส่วนที่บางคนเขาสมัยโบราณเขาเรียกว่าขนมชักหน้านั้นก็เพราะว่าตอนนำขนมไปนึ่ง ตัวหน้าขนมจะชักหน้าเป็นหลุมมีรูตรงกลางเนื้อขนม เวลานึ่งเสร็จแล้วตัวขนมจะบุ๋มลงไป เหมือนกิริยา ของคนโกรธแล้วชักหน้า หนีไป
ขนมน้ำดอกไม้ ประกอบขึ้นจากแป้งข้าวเจ้า แป้งมัน (บางคนก็ใช้แป้งท้าวยายม่อมแทนแป้งมัน) น้ำตาลทราย และหัวใจสำคัญของขนมชนิดนี้คือ “น้ำดอกไม้สด” น้ำดอกไม้สด คือ น้ำที่มีกลิ่นหอมหวานละมุนที่เกิดจากการที่เรานำดอกไม้สดนานาชนิดมาลอยน้ำและร่ำด้วยควันเทียนอบให้หอมกรุ่น ขนมน้ำดอกไม้เป็นขนมที่ใช้วัตถุดิบในการทำไม่มาก แต่จะออกมา “ชักหน้า” สวยหรือไม่นั้นก็ขึ้นกับเทคนิคในการนึ่งขนม ถ้ารู้เทคนิคแล้วจะทำได้ไม่ยากเลย มาค่ะ เรามาทำขนมน้ำดอกไม้กัน
#วัสดุและอุปกรณ์
1.แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วย
2.แป้งมัน 4 ช้อนโต๊ะ (หรือจะใช้แป้งท้าวยายม่อมแทนก็ได้ค่ะ)
3.น้ำดอกไม้สด 2 ถ้วย สำหรับผสมแป้ง 1/8 ถ้วย (สำหรับทำขนมสีขาว)
4.น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วย
5.น้ำอัญชัน 1/8 ถ้วย (สำหรับผสมสี)
6.น้ำใบเตย 1/8 ถ้วย (สำหรับผสมสี)
7.น้ำกระเจี๊ยบ 1/8 ถ้วย (สำหรับผสมสี)
8.น้ำดอกกรรณิการ์ 1/8 ถ้วย (สำหรับผสมสี)
9.เทียนอบตรากุหลาบ
10.รังถึง
11.ถ้วยตะไล
12.กะละมัง ที่ร่นแป้ง และที่ผสมอาหาร
#วิธีทำ
1.ผสมแป้งทำขนม โดยร่อนแป้งข้าวเจ้ากับแป้งมันลงในชามผสมให้เข้ากัน แล้วพักไว้ (หากต้องการให้ขนมหอมมากๆ จะนำแป้งไปร่ำเทียนอบเสีย 1ทีก็ได้ เป็น optional)
2.ใส่น้ำตาลทรายลงในน้ำดอกไม้สด อุ่นน้ำให้ร้อนเสียหน่อยน้ำตาลทรายจะละลายง่ายขึ้น แล้วคนให้น้ำตาลละลายจนหมด ตั้งพักไว้ให้เย็น
3. ผสมน้ำเชื่อมลงในแป้ง ดดยใส่น้ำทีละน้อยคนให้แป้งเข้ากันดี แล้วจึงเติมน้ำเชื่อมที่เหลือเข้าไป แป้งจะได้ละลายดีไม่เป็นเม็ด แบ่งแป้งออกเป็น 5 ส่วน ส่วนที่ 1 ใส่น้ำอัญชัญลงไป ส่วนที่ 2 ใส่น้ำใบเตยลงไป ส่วนที่ 3 ใส่น้ำกระเจี๊ยบลงไป ส่วนที่ 4 ใส่น้ำดอกกรรณิการ์ลงไป และส่วนสุดท้าย ใส่น้ำดอกไม้สดเพิ่มเข้าไป คนให้สีเข้ากับแป้งดีแล้วพักไว้ (TIP : เพื่อน ๆ ระวังอย่าใส่สีที่เข้มข้นจนเกินไปลงไปในตัวน้ำแป้งนะคะ เราไม่จำเป็นต้องใส่สีหมดตามที่ตวงก็ได้ค่ะ เพราะไม่อย่างงั้นสีขนมของเราจะฉูดฉาดมากเกินไปค่ะ เพราะเวลานึ่งสุกสีขนมจะเข้มขึ้นมาอีกนิดค่ะ)
4. ตั้งลังถึงรอให้น้ำเดือดจัด ใช้ไฟแรง หลังจากนั้นนำถ้วยตะไลเปล่า ๆ ไปนึ่งให้ถ้วยตะไลร้อนประมาณ 10-15 นาที
5. คนน้ำแป้งที่ตกตะกอนให้เข้ากันดีอีกครั้งก่อน จากนั้นจึงเทแป้งลงในถ้วยตะไลให้เต็ม แล้วปิดฝานึ่งเป็นเวลา 10-15 นาที ดูว่าขนม “ชักหน้า” ดีแล้ว ให้นำถ้วยตะไลใส่ลงในถาดที่มีน้ำเย็น รอให้ถ้วยเย็นแล้วจึงแคะเอาขนมออก เสิร์ฟในภาชนะที่เตรียมไว้
#ข้อควรระวัง ก่อนนำขนมไปนึ่งทุกครั้งจะต้องนึ่งถ้วยตะไลให้ร้อนจัดก่อนนะคะ ไม่ฉะนั้นหน้าขนมจะไม่บุ๋มลงไปนะคะ
ถ้าเราชอบทำขนมไทยหอมอร่อยที่ต้องใช้ “น้ำดอกไม้สด” เราสามารถทำน้ำดอกไม้สดไว้คราวละมากหน่อย ทำแล้วใส่ขวดแช่ตู้เย็นไว้ เก็บไว้ได้เป็นอาทิตย์เลยค่ะ เวลาทำขนมพร้อมทำทันที
แป้งทำขนมหอมๆ เราสามารถร่ำเทียนอบเก็บไว้ก่อนได้นะคะ ข้อสำคัญเวลาร่ำเทียนอบเสร็จแล้วต้องเก็บไว้ในภาชนะที่ฝาปิดได้สนิทดี กลิ่นหอมๆของเทียนอบจะได้ไม่หายไปไหนนะคะ แค่นี้เราก็พร้อมลุยทำขนมให้หอมอร่อย โดยไม่เสียเวลาแล้วค่ะ
“เทคนิคการร่ำเทียนอบ” ในการร่ำน้ำดอกไม้สด การติดเทียนอบไว้ที่ฝาโถจะทำให้สะดวกในการทำ จากนั้นก็จุดไฟที่เทียนอบ พอไฟลุกท่วมดีแล้วให้ใช้ด้ามช้อนเขี่ยไส้เทียนให้กระจาย จะทำให้เกิดควันขาวๆขึ้น จากนั้นจึงดับเทียนอบ โดยต้องดับไฟให้ได้ในครั้งเดียว หลังจากที่ดับไฟแล้วเราต้องรีบปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำดอกไม้สดไว้ อบร่ำควันเทียนทิ้งไว้สัก 30 นาที ถ้าเราจะใช้เทียนอบซ้ำ เราต้องตัดไส้เทียนและเขี่ยขี้เถ้าดำๆ ออกให้หมดเสียก่อน มิเช่นนั้นเวลาอบ ผงขี้ผึ้งถ้าจะปลิวไปตกลงไปในน้ำได้ ภาชนะที่ใช้อบร่ำขนมนั้น ควรจะเป็นเซรามิก แก้ว หรือหม้อเคลือบ จะต้องอบร่ำน้ำดอกไม้สดซ้ำหลายครั้งเพื่อให้น้ำมีความหอมอย่างทั่วถึง ส่วนการเอาแป้งทำขนมมาร่ำเทียนอบนั้น เราสามารถใช้วิธีเดียวกับการร่ำขนมได้ค่ะ
เทียนอบตรากุหลาบของเรา เป็นเทียนอบที่มีกลิ่นหอมละมุนอันเป็นเอกลักษณ์จากสูตรเฉพาะของร้านเรา มีอยู่ด้วยกันสามขนาด คือ เบอร์2 เบอร์3 และ เบอร์4 เทียนอบเบอร์2 จะมีขนาดเล็กสุดและมีเครื่องหอมน้อยกว่าเบอร์ที่ใหญ่กว่า เทียนอบเบอร์3 เทียนอบจะมีขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อยแต่มีขนาดเล็กและมีเครื่องหอมน้อยกว่าเทียนอบเบอร์4 หากต้องการประหยัดเวลาในการอบร่ำน้ำดอกไม้สดก็ควรใช้เทียนเบอร์ใหญ่ หากไม่กังวลที่จะต้องร่ำควันเทียนซ้ำหลายๆทีก็ใช้เทียนอบเบอร์เล็กได้ค่ะ
ไม่ยากจนเกินไปใช่ไหมคะ เพียงแค่นี้เราก็พร้อมมีขนมน้ำดอกไม้หอมอร่อยสีสันสดสวย 5 สี ด้วยความหอมชื่นใจและสีสันจากธรรมชาติไว้รับประทานกันแล้ว ในเมื่อหาซื้อที่อร่อยๆยากนักก็ทำกินเองเลยค่ะ พร้อยลุยแล้ว เราก็ไปหาซื้อถ้วยตะไลเล็กมารอเลยดีกว่าค่ะ ถ้าชอบบทความของเรา อย่าลืมกด Like กดติดตามเพจของเราไว้นะคะ วันหลังเพื่อนๆจะได้ไม่พลาดบทความดีๆจากเรา
コメント