top of page
Search

ขนมบุหลันดั้นเมฆ ขนมเสี่ยงทายของคนในวังสมัยก่อน

ขนม“บุหลันดั้นเมฆ” เป็นขนมชาววังคิดประดิษฐ์ขึ้นให้มีสีสันอุปมาอุปไมยโดยได้แรงบันดาลใจมาจากบทเพลง “บุหลันลอยเลื่อน” หรืออีกชื่อคือ “บุหลันลอยฟ้า” เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 มีความเป็นมาว่า หลังจากทรงซอสายฟ้าฟาดอยู่จนดึกก็เข้าบรรทม ทรงพระสุบินว่าเสด็จไปสถานที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง พระจันทร์เต็มดวงค่อยๆ ลอยเลื่อนเข้ามาใกล้ ส่องแสงกระจ่างไปทั่ว พร้อมมีเสียงทิพยดุริยางค์กังวาน พระองค์เสด็จทอดพระเนตรและทรงตั้งพระทัยสดับเสียงดนตรีอันไพเราะเพลิดเพลินพระราชหฤทัยเป็นเวลานาน จากนั้นดวงจันทร์ก็ค่อยๆ ลอยเลื่อนเคลื่อนห่างออกไปในท้องฟ้าพร้อมสำเนียงเสียงดนตรีก็ค่อยๆเบาจางห่างหายไป พลันเสด็จตื่นบรรทมแม้เสด็จตื่นรู้พระองค์กระจ่างแจ้งแจ่มพระทัยแล้ว สำเนียงดนตรีในพระสุบินยังแว่วกังวานพระโสตอยู่ จึงโปรดให้ตามมหาดเล็กเจ้าพนักงานการดนตรี เข้ามาต่อเพลงไว้ในยามราตรีนั้นเอง พระราชทานนามเพลงว่า “บุหลันลอยเลื่อน”


คำว่าบุหลันหมายถึงดวงจันทร์ ลักษณะของตัวขนมจะใช้น้ำดอกอัญชันสีฟ้าครามแทนสีของเมฆในเวลากลางคืน และวางไข่แดงตรงกลางแทนดวงจันทร์ ขนมนี้จึงทำเลียนแบบเสมือนความงดงามของดวงจันทร์ที่ลอยเด่นอยู่บนท้องฟ้ายามค่ำคืน ขนมนี้มีรสชาติอร่อย นุ่มลิ้น หอมหวาน #ในสมัยก่อน มักจะนิยมใช้เป็นขนมบุหลันดั้นเมฆนี้เป็นขนมเสี่ยงทาย เกี่ยวกับ หน้าที่การงาน ในส่วนของบุหลัน(ดวงจันทร์)สีเหลือง เวลาหยอดแล้วนำไปนึ่ง จะขึ้นสวยหรือไม่ ต้องเสี่ยงทายดู ถ้าส่วนขนมที่เป็นแทนเสมือนดวงจันทร์เมื่อนึ่งแล้วผล ออกมาสวยงาม สมบูรณ์ แสดงว่าสิ่งที่มุ่งหวังหรืออธิฐานไว้จะประสบความสำเร็จดังใจหมาย หากนึ่งออกมาแล้วไม่สวยถือว่าโชคไม่ดีนั่นเอง ส่วนตอนนี้จะโชคดีหรือไม่ ลองไปทำตามวิธีทำนี้เลยค่ะ


#วัสดุและอุปกรณ์

  • แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วยตวง (ที่ร่ำเทียนอบมาแล้ว optional)

  • แป้งถั่ว 3 ช้อนโต๊ะ

  • น้ำตาลทราย 1 ถ้วยตวง

  • น้ำดอกไม้สด 2 ถ้วยตวง

  • ดอกอัญชัน 12-15 ดอก น้ำมะนาวเล็กน้อย

  • ไข่ไก่หรือไข่เป็ดใช้แต่ไข่แดง 12 ฟอง

  • น้ำตาลมะพร้าว 4 ช้อนโต๊ะ

  • กระทิ 1/4 ถ้วยตวง

  • ใบเตย

  • เทียนอบตรากุหลาบ

  • เกลือ เล็กน้อย

  • ไม้จิ้มฟัน

#วิธีทำ

  1. นำกระทิ 1/4 ถ้วย ไปอบร่ำควันเทียนอบ ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที

  2. นำน้ำดอกไม้สด 1 ถ้วยตวง ใส่ในหม้อ นำดอกอัญชันเด็ดขั้วทิ้ง ล้างเบาๆ ให้สะอาด ต้มให้เดือด พอสีออกดี ตักดอกอัญชัญออก ใส่น้ำตาลทรายลงไป กวนให้ละลาย พอเดือดสักครู่จึงยกลงทิ้งไว้ให้เย็น บีบมะนาวใส่เล็กน้อยให้สีสวย

  3. นำแป้งข้าวเจ้าใส่ชามรวมกับแป้งถั่ว นวดด้วยน้ำดอกไม้สดนิดหน่อย นวดไปสักครู่จึงเติมน้ำทั้งหมดลงไปละลายให้เข้ากัน แล้วเติมน้ำเชื่อมสีอัญชัน 1 ถ้วยตวง คนให้เข้ากัน และกรองด้วยตะแกรงละเอียด ตั้งพักไว้

  4. ใช้ไข่ เอาแต่ไข่แดง ผสมกับน้ำตาลมะพร้าว นำกระทิที่ร่ำควันเทียนอบที่เตรียมไว้มาผสม นวดด้วยใบเตยให้ดับกลิ่นคาวไข่ จนน้ำตาลละลายหมด กรองด้วยตะแกรงละเอียด พักไว้

  5. เรียงถ้วยตะไลเล็กๆ หรือจะใช้ถ้วยขนมถ้วยก็ได้ แล้วแต่ชอบ ใส่ในลังถึง ใช้ไฟแรง นึ่งในน้ำเดือดพล่าน จนถ้วยร้อนจัดประมาณ 10 นาที คนแป้งให้ทั่วแล้วตักหยอดให้ถ้วยเต็มโดยเร็ว เสร็จแล้วปิดฝาลังถึงนึ่งไปประมาณ 2-3 นาที แป้งจะจับขอบถ้วยเล็กน้อย หรี่ไฟให้อ่อน เปิดฝาแล้วนำลังถึงลง หยิบถ้วยขนมเทแป้งส่วนที่ยังไม่สุกออกทุกถ้วย

  6. ตักไข่ที่เตรียมไว้หยอดกลางถ้วยแทนที่แป้งที่เทออกจนเต็ม นึ่งด้วยไฟอ่อนๆต่อไปจนไข่ในขนมสุกดีและเรียบสวย ยกลงปล่อยให้เย็นสนิท แล้วจึงใช้ไม้จิ้มฟันเล็กๆ แคะขนมเรียงใส่จาน

Tips:

  1. ข้อควรระวัง ก่อนนำขนมไปนึ่งทุกครั้งจะต้องนึ่งถ้วยตะไลให้ร้อนจัดก่อนนะคะ ไม่ฉะนั้นหน้าขนมจะไม่บุ๋มลงไปนะคะ

  2. ถ้าไม่อยากเทแป้งออกหลังจากนึ่งก็ได้นะคะ นึ่งแป้งไปจน 10-15 นาทีจนแป้งชักหน้าเหมือนขนมน้ำดอกไม้ก็ได้ค่ะ แต่จะได้ดวงจันทร์เล็กไม่สวย ถ้าอยากได้ดวงจันทร์ใหญ่ๆหน่อย พอนึ่งแป้งไปได้ 2-3 นาทีต้องเทแป้งที่ยังไม่สุกออกค่ะ

  3. ถ้าเราชอบทำขนมไทยหอมอร่อยที่ต้องใช้ “น้ำดอกไม้สด” เราสามารถทำน้ำดอกไม้สดไว้คราวละมากหน่อย ทำแล้วใส่ขวดแช่ตู้เย็นไว้ เก็บไว้ได้เป็นอาทิตย์เลยค่ะ เวลาทำขนมพร้อมทำทันที

  4. แป้งทำขนมหอมๆ เราสามารถร่ำเทียนอบเก็บไว้ก่อนได้นะคะ ข้อสำคัญเวลาร่ำเทียนอบเสร็จแล้วต้องเก็บไว้ในภาชนะที่ฝาปิดได้สนิทดี กลิ่นหอมๆของเทียนอบจะได้ไม่หายไปไหนนะคะ

  5. ความแตกต่างของไข่เป็ดและไข่ไก่ แล้วแต่ว่าเราอยากได้ดวงจันทร์สีอะไรค่ะ ไข่ไก่จะมีสีเหลืองซีดกว่า ไข่เป็ดจะสีสวยกว่าค่ะ

  6. เวลานึ่งไข่ตรงกลางต้องใช้ไฟอ่อนนึ่งจนสุกดีนะคะ ถ้าใช้ไฟแรงนึ่ง หน้าไข่จะฟูแตกและไม่สวยค่ะ


“เทคนิคการร่ำเทียนอบ” ในการร่ำน้ำดอกไม้สด การติดเทียนอบไว้ที่ฝาโถจะทำให้สะดวกในการทำ จากนั้นก็จุดไฟที่เทียนอบ พอไฟลุกท่วมดีแล้วให้ใช้ด้ามช้อนเขี่ยไส้เทียนให้กระจาย จะทำให้เกิดควันขาวๆขึ้น จากนั้นจึงดับเทียนอบ โดยต้องดับไฟให้ได้ในครั้งเดียว หลังจากที่ดับไฟแล้วเราต้องรีบปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำดอกไม้สดไว้ อบร่ำควันเทียนทิ้งไว้สัก 30 นาที ถ้าเราจะใช้เทียนอบซ้ำ เราต้องตัดไส้เทียนและเขี่ยขี้เถ้าดำๆ ออกให้หมดเสียก่อน มิเช่นนั้นเวลาอบ ผงขี้ผึ้งถ้าจะปลิวไปตกลงไปในน้ำได้ ภาชนะที่ใช้อบร่ำขนมนั้น ควรจะเป็นเซรามิก แก้ว หรือหม้อเคลือบ จะต้องอบร่ำน้ำดอกไม้สดซ้ำหลายครั้งเพื่อให้น้ำมีความหอมอย่างทั่วถึง การร่ำกระทิก็ใช้เทคนิค้ดียวกันกับที่ร่ำน้ำดอกไม้สด แต่ร่ำควันเทียนแค่ครั้งเดียวก็พอ ส่วนการเอาแป้งทำขนมมาร่ำเทียนอบนั้น เราสามารถใช้วิธีเดียวกับการร่ำขนมได้ค่ะ


เทียนอบตรากุหลาบของเรา เป็นเทียนอบที่มีกลิ่นหอมละมุนอันเป็นเอกลักษณ์จากสูตรเฉพาะของร้านเรา มีอยู่ด้วยกันสามขนาด คือ เบอร์2 เบอร์3 และ เบอร์4 เทียนอบเบอร์2 จะมีขนาดเล็กสุดและมีเครื่องหอมน้อยกว่าเบอร์ที่ใหญ่กว่า เทียนอบเบอร์3 เทียนอบจะมีขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อยแต่มีขนาดเล็กและมีเครื่องหอมน้อยกว่าเทียนอบเบอร์4 หากต้องการประหยัดเวลาในการอบร่ำ และอยากให้กลิ่นหอมมากๆ ก็ควรใช้เทียนเบอร์ใหญ่ หากไม่กังวลที่จะต้องร่ำควันเทียนซ้ำหลายๆทีก็ใช้เทียนอบเบอร์เล็กได้ค่ะ



ไม่ยากจนเกินไปใช่ไหมคะ เพียงแค่นี้เราก็พร้อมมีขนมบุหลันดั้นเมฆหอมอร่อยสีสันสดสวย เหมือนพระจันทร์ลอยอยู่ในก้อนเมฆไว้รับประทานกันแล้ว ถ้าชอบบทความของเรา อย่าลืมกด Like กดติดตามเพจของเราไว้นะคะ วันหลังเพื่อนๆจะได้ไม่พลาดบทความดีๆจากเรา


2,863 views0 comments

Comments


bottom of page